วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สวนรุกขชาติแม่ฟ้าหลวง

สวนรุกขชาติแม่ฟ้าหลวง

อ. แม่ฟ้าหลวง จ. เชียงราย

สวนรุกขชาติแม่ฟ้าหลวง อยู่บนดอยช้างมูบ มีเนื้อที่ 250 ไร่ ริมถนนสายพระธาตุดอยตุง บ้านผาหมี ห่างจากทางแยกวัดน้อยดอยตุงประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นจุดชมวิวที่สูงที่สุดของเทือกเขานางนอน และยิ่งสวยงามมากในช่วงที่ดอกซากุระบานราวเดือนมกราคม ภายในบริเวณมีพระสถูปช้างมูบ เป็นเจดีย์ขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนก้อนหินขนาดใหญ่ มีลักษณะเหมือนช้างหมอบอยู่ และยังมีต้นสนซึ่งใช้ปลูกเพื่ออนุรักษ์ดินและต้นน้ำอีกด้วย

การท่องเที่ยวชายแดนไทย-ลาว-พม่า

จุดผ่านแดนจังหวัดเชียงรายมี 3 จุด คือ

1. ด่านอำเภอเชียงแสน ฝั่งตรงข้ามคือด่านเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ห่างจากอำเภอเมืองเชียงราย 60 กิโลเมตร ตั้งอยู่ที่บริเวณท่าเรือหน้าที่ว่าการอำเภอเชียงแสน เป็นจุดเดินทางท่องเที่ยวตามลำน้ำโขงโดยทางเรือไปถึงเชียงรุ้ง สิบสองปันนาจีนตอนใต้

2. ด่านอำเภอเชียงของ ฝั่งตรงข้ามคือด่านเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ห่างจากอำเภอเมืองเชียงราย 114 กิโลเมตร ตั้งอยู่บริเวณท่าเรือบั๊ก เป็นจุดข้ามไปท่องเที่ยวเมืองห้วยทราย และเดินทางตามลำน้ำโขงโดยทางเรือไปถึงหลวงพระบางและเวียงจันทน์ สปป.ลาว แล้วกลับเข้าประเทศไทยที่จังหวัดหนองคาย (เรือเร็วออกเดินทางช่วงเช้า นั่งได้ 5 คน ๆ ละ 800 บาท ใช้เวลา 5 ชั่วโมง เรือสินค้าออกเดินทางช่วงบ่ายคนละ 300 บาท ใช้เวลา 2 วัน 1 คืน)

3. ด่านอำเภอแม่สาย ฝั่งตรงข้ามคือด่านท่าขี้เหล็ก สหภาพพม่า ห่างจากอำเภอเมืองเชียงราย 60 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง ตั้งอยู่เชิงสะพานข้ามแดนไทย-พม่า เป็นตลาดชายแดนไทย-พม่า และเป็นจุดเดินทางท่องเที่ยวไปเชียงตุงได้ โดยทางรถยนต์

หนังสือเดินทางสำหรับการเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในลาว-พม่า
1. หนังสือเดินทาง (Passport)
สำหรับประชาชนทุกสัญชาติที่มีวีซ่า สปป.ลาว-สหภาพพม่า สามารถเดินทางท่องเที่ยวทั่วประเทศทั้งสองได้เป็นเวลา 15 วัน

2. หนังสือผ่านแดนชั่วคราว (Temporary Border Pass) สำหรับประชาชนสัญชาติไทยที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยใช้ผ่านแดนได้เพียงครั้งเดียว รวมทั้งให้บุตรที่อายุไม่เกิน 12 ปี มีชื่อร่วมอยู่ในหนังสือผ่านแดนนี้ได้ด้วย อนุญาตให้พำนักอยู่ในพื้นที่ชายแดน แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ได้ 3 วัน และเข้าเมืองท่าขึ้เหล็ก สหภาพพม่าได้ 7 วัน (เข้าจุดไหนต้องออกจุดนั้นและหากเดินทางออกนอกพื้นที่ชายแดนตามที่ได้ระบุไว้นี้ จะต้องได้รับโทษตามกฎหมายของ สปป.ลาวและสหภาพพม่า)

2.1 เอกสารที่ต้องใช้ สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน หรือบัตรอื่น ๆ ที่ทางราชการออกให้ ถ้าเข้าสปป.ลาว ต้องใช้รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว จำนวน 2 รูป และค่าแบบฟอร์ม 15 บาท สำหรับสหภาพพม่าไม่ต้องใช้รูป
2.2 สถานที่ขอหนังสือฯ ขอได้ที่ ที่ว่าการอำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ และสถานที่ที่จังหวัดกำหนด สำหรับอำเภอแม่สายขอได้ที่ทำการเอกชนที่ได้รับอนุญาตจากอำเภอแม่สายแล้ว หรือติดต่อชมรมบัตรผ่านแดนอำเภอแม่สาย โทร. (053) 642636

วัดสังฆาแก้วดอนหัน

วัดสังฆาแก้วดอนหัน อยู่ถนนเลียบแม่น้ำเชียงแสน-เชียงของ ใกล้วัดพระธาตุจอมกิตติ มีประวัติตามตำนานว่า สร้างโดยพระเจ้าลวจักราช เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 12 แต่หลักฐานที่พบแสดงว่ามีอายุอยู่ในช่วงไม่เกินพุทธศตวรรษที่ 21 กรมศิลปากรได้ขุดพบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญมากมาย โดยเฉพาะภาพบนแผ่นอิฐเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับทศชาติตอนเวสสันดรชาดก เช่น พระเวสสันดรเดินป่า ชูชกเฝ้าพระเวสสันดร เป็นต้น ลักษณะของภาพเป็นการเขียนลงบนอิฐก่อนการเผา ที่น่าสนใจคือ อิฐดังกล่าวถูกนำมาก่อเป็นผนังและฉาบปูนปิดทับ คงเนื่องจากความศรัทธาของชาวบ้านผู้สร้างวัดถวายมากกว่าเจาะจงให้คนมาชม นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนจิตรกรรมฝาผนังที่หลุดพังมาจากผนังวิหาร มีสภาพแตกหักแต่ยังคงเหลือลักษณะของสีและตัวภาพซึ่งใช้สีชาดและสีแดงเพียง 2 สี นับได้ว่าเป็นการค้นพบที่สำคัญทางวิชาการอย่างยิ่ง

ที่มา. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

พระธาตุดอยปูเข้า

เป็นโบราณสถานอยู่บนดอยเชียงเมี่ยง ริมปากน้ำรวก เมื่อ พ.ศ. 1302 ในสมัยพระยาลาวเก้าแก้วมาเมือง กษัตริย์องค์ที่ 2 แห่งเวียงหิรัญนครเงินยาง โบราณสถานประกอบด้วยพระวิหาร และกลุ่มเจดีย์ที่พังทลาย ก่อด้วยอิฐมีร่องรอยการตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น มีพระพุทธรูปเสี่ยงทาย นอกจากนี้บนดอยเชียงเมี่ยงยังเป็นจุดชมวิว สามารถมองเห็นสามเหลี่ยมทองคำได้ชัดเจน การเดินทาง ใช้เส้นทางเชียงแสน-สบรวก แยกซ้ายก่อนถึงสามเหลี่ยมทองคำเล็กน้อย รถยนต์สามารถขึ้นไปถึงยอดเขา หรือจะเดินขึ้นบันไดก็ได้

วัดพระธาตุจอมกิตติ

วัดพระธาตุจอมกิตติ

อ. เชียงแสน จ. เชียงราย

วัดพระธาตุจอมกิตติ ตั้งอยู่บนเนินเขานอกตัวเมือง เป็นเจดีย์ทรงมณฑปที่สร้างขึ้นโดยพระเจ้าพังคราช เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ต่อมาในปี พ.ศ.2030 หมื่นเชียงสงได้ก่อสร้างเจดีย์องค์ใหม่ครอบทับองค์เดิม บริเวณพระธาตุจอมกิตติ มีพระธาตุขนาดเล็กตั้งอยู่อีกองค์หนึ่ง คือ พระธาตุจอมแจ้ง และมีจุดชมทิวทัศน์ของแม่น้ำโขงอยู่หลังองค์พระธาตุจอมแจ้ง มีบันไดนาค 339 ขั้น เป็นทางเดินขึ้นไปนมัสการหรือจะนำรถขึ้นไปจอดบนพระธาตุก็ได้

วัดพระเจ้าล้านทอง

วัดพระเจ้าล้านทอง

อ. เชียงแสน จ. เชียงราย

วัดพระเจ้าล้านทอง วัดนี้ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมือง เจ้าทองงั่ว ราชโอรสพระเจ้าติโลกราชเป็นผู้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2032 ได้ทรงหล่อพระพุทธรูปองค์หนึ่งหนักล้านทอง (1,200 กิโลกรัม) ขนานนามว่า พระเจ้าล้านทอง เป็นพระประธาน ในวัดนี้ยังมีพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งได้มาจากวัดทองทิพย์ซึ่งเป็นวัดร้าง เรียกกันว่า พระเจ้าทองทิพย์ เป็นพระพุทธรูปทองเหลือง พระพักตร์งดงามมาก ลักษณะเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย
วัดป่าสัก อยู่ห่างจากอำเภอเชียงแสน ประมาณ 1 กิโลเมตร เขตตำบลเวียง พระเจ้าแสนภูสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1838 และให้ปลูกต้นสักล้อมกำแพงจำนวน 300 ต้น จึงได้ชื่อว่า “วัดป่าสัก” ทรงตั้งพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นสังฆราชจำพรรษา ณ อารามแห่งนี้ ภายในวัดมีโบราณสถานที่สำคัญ คือ เจดีย์ประธานทรงมณฑปยอดระฆัง ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นอันวิจิตร เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุกระดูกตาตุ่มข้างขวาจากเมืองปาฎลีบุตร

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเชียงแสน
ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมือง เป็นที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุที่ได้จากบริเวณเชียงแสนและพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ลวดลายปูนปั้นฝีมือล้านนา พระพุทธรูปและศิลาจารึกจากเชียงแสนและจากพะเยา พร้อมทั้งให้ข้อมูลทางด้านวิชาการเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีการตั้งถิ่นฐานของชุมชน และประวัติการสร้างเมืองเชียงแสน นอกจากนี้ยังมีการจัด แสดงศิลปะพื้นบ้านของ ชาวไทยใหญ่ ไทยลื้อ และชาวเขาเผ่าต่างๆ ได้แก่ เครื่องเขิน เครื่องดนตรี เครื่องประดับ อุปกรณ์การสูบฝิ่น เป็นต้น

เชียงแสนเป็นเมืองโบราณบริเวณภาคเหนือตอนบนที่สำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์ของแคว้นล้านนา มีแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์ ปรากฎอยู่มาก พระเจ้าแสนภู พระราชนัดดาของพระเจ้าเม็งรายทรงสร้างเมืองเชียงแสนขึ้นปี พ.ศ.๑๘๗๑ เพื่อเป็นที่มั่นในการควบคุมดูแลหัวเมืองต่างๆ ในแคว้นโยนก และเป็นปากประตูเพื่อติดต่อกับบ้านเมืองภายในผืนทวีปตามเส้นทางแม่น้ำโขง มีร่องรอยโบราณสถานให้เห็นอยู่ถึงปัจจุบัน
เมื่อมีการจัดตั้งหน่วยศิลปากรขึ้นปี ๒๕๐๐ เพื่อดูแลรักษาโบราณสถานในเมืองเชียงแสน ได้มีการตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขึ้น เพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บรวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากการสำรวจขุดแต่งโบราณสถานเมืองเชียงแสน และบริเวณใกล้เคียง จัดแสดงให้ประชาชน นักศึกษา ชม และศึกษาหาความรู้ โดยใช้ศาลาหลังเก่าของวัดเจดีย์หลวงเป็นอาคารจัดแสดงหลังแรก
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๔ จึงได้ประกาศให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่เก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือ
ปี ๒๕๒๔ ได้รับงบประมาณในการสร้างอาคารทรงไทยล้านนาประยุกต์ ประดับยอดจั่ว กาแล 1 หลัง จึงได้ย้ายโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุไปจัดแสดง แล้วเสร็จในปี ๒๕๒๗ และปี ๒๕๒๘ ได้มีการสร้างอาคารส่วนขยาย ปี ๒๕๓๘ ได้รับงบประมาณในการซ่อมปรับปรุง
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน อย่างเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐

สถานที่ติดต่อ
702 ถนนพหลโยธิน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย 57150
โทร. (053) 777-102 โทรสาร (053) 777-102 ต่อ 28
วันและเวลาทำการ
เปิด 08.30 – 16.30 น. วันพุธ – วันอาทิตย์
ปิดวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์

ค่าธรรมเนียมเข้าชม
ชาวไทย คนละ 20 บาท
ชาวต่างประเทศ คนละ 100 บาท

การให้บริการ
1.บริการข้อมูลทางวิชาการให้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป
2.บริการนำชม บรรยายแก่นักเรียน นักศึกษา แขกทางราชการเข้าชมเป็นหมู่คณะ ในและนอกสถานที่
3.จำหน่ายหนังสือทางวิชาการด้านศิลปะ โบราณคดี และประวัติศาสตร์ โปสการ์ด หนังสือนำชม สินค้าหัตถกรรมพื้นบ้าน และของที่ระลึก
4.ตรวจสอบศิลปโบราณวัตถุ

ข้อมูลเพื่มเติม พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเชียงแสน